เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [16. ติงสตินิบาต] 8. ปัณฑรกนาคราชชาดก (518)
[278] นาคราชผู้มีลิ้นสองแฉก นรชนเหล่าใดปกปิดความคิดไว้
ไม่พูดพล่อย มั่นคงอยู่ในประโยชน์ของตน
ศัตรูทั้งหลายย่อมหลีกห่างไกลจากนรชนเหล่านั้น
เหมือนคนรักชีวิตหลีกห่างไกลจากหมู่สัตว์อสรพิษฉะนั้น
(เมื่อพญาครุฑกล่าวอย่างนั้นแล้ว ปัณฑรกนาคราชจึงกล่าวว่า)
[279] อเจลกละทิ้งบ้านเรือนแล้วบวช มีศีรษะโล้น
ประพฤติเป็นคนเปลือยเพราะเหตุแห่งการหากิน
เพราะข้าพเจ้าเปิดเผยความลับกับเขาแล
จึงได้เสื่อมจากอรรถและธรรม
[280] พญาครุฑ บุคคลกระทำอย่างไร
มีศีลอย่างไร บำเพ็ญวัตรอะไร
ประพฤติละความยึดมั่นว่าเป็นของเราอย่างไร
จึงจะเป็นสมณะได้
อนึ่ง สมณะกระทำอย่างไรจึงจะเข้าถึงแดนสวรรค์ได้
(พญาครุฑกล่าวว่า)
[281] บุคคลประกอบด้วยหิริ ด้วยความอดกลั้น
ด้วยการฝึกตน ไม่โกรธ ละคำส่อเสียด
ประพฤติละความยึดมั่นว่าเป็นของเราเสีย
จึงจะเป็นสมณะได้
สมณะกระทำอย่างนี้จึงจะเข้าถึงแดนสวรรค์ได้
(ปัณฑรกนาคราชเมื่อจะขอชีวิต จึงกล่าวว่า)
[282] มารดากอดสัมผัสบุตรอ่อนซึ่งเกิดแต่ตน
แผ่ซ่านเรือนร่างทุกส่วนสัดปกป้องฉันใด
ท่านผู้เป็นจอมแห่งนก ท่านจงปรากฏแก่ข้าพเจ้าแม้ฉันนั้น
เหมือนมารดาเอ็นดูบุตร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :580 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [16. ติงสตินิบาต] 8. ปัณฑรกนาคราชชาดก (518)
(พญาครุฑเมื่อจะให้ชีวิตแก่ปัณฑรกนาคราช จึงกล่าวว่า)
[283] เอาเถิด ท่านผู้มีลิ้นสองแฉก
วันนี้ท่านจงพ้นจากการถูกฆ่า
ธรรมดาลูกมี 3 ประเภท คือ
(1) ลูกศิษย์ (2) ลูกบุญธรรม (3) ลูกในไส้
อย่างอื่นหามีไม่ ท่านจงยินดีเถิด
ท่านได้เป็นบุตรประเภทหนึ่งของข้าพเจ้าแล้ว
(พระศาสดาตรัสพระคาถาแล้วทรงประกาศความนั้นว่า)
[284] พญาครุฑกล่าวอย่างนี้แล้ว
ก็โผลงจับภาคพื้นปล่อยพญานาค
กล่าวว่า วันนี้ท่านรอดพ้นภัยทั้งปวงแล้ว
จงเป็นผู้มีข้าพเจ้าคุ้มครองทั้งทางบกทางน้ำเถิด
[285] หมอผู้ฉลาดเป็นที่พึ่งของคนไข้ได้ฉันใด
ห้วงน้ำเย็นเป็นที่พึ่งของคนผู้กระหายได้ฉันใด
ที่พักเป็นที่พึ่งของคนผู้ถูกความเย็นเพราะหิมะรบกวนฉันใด
แม้ข้าพเจ้าก็จะเป็นที่พึ่งของท่านฉันนั้น
(พญาครุฑเห็นเหตุนั้นแล้ว จึงกล่าวว่า)
[286] นี่พญานาคผู้เกิดในครรภ์
ท่านเชื่อมสัมพันธ์กับพญาครุฑ ผู้เกิดในฟองไข่ที่เป็นศัตรู
ยังนอนแยกเขี้ยวอยู่ ภัยนั้นมีมาแต่ไหนหนอ
(พญานาคกล่าวว่า)
[287] ในศัตรูบุคคลพึงระแวงไว้ก่อน แม้ในมิตรก็ไม่พึงวางใจ
ภัยที่เกิดขึ้นจากคนไม่มีภัยย่อมกัดกร่อนจนถึงโคนราก
[288] บุคคลจะพึงวางใจในคนผู้เคยทำการทะเลาะกันมาแล้วได้
อย่างไรเล่า บุคคลผู้ดำรงอยู่ด้วยการเตรียมตัวอยู่เป็นนิตย์
ย่อมไม่ยินดีกับศัตรู

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :581 }